วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558
วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558
ผักพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นเมือง
" ผักพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นเมือง "
เมื่อชุมชนบ้านจำรุงรณรงค์ให้มีการรับประทานผักพื้นบ้านตามฤดูกาลที่เคยมีมาแต่เก่าก่อนกันมากยิ่งขึ้น ผักพื้นบ้านของบ้านจำรุงก็กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชุมชน ทุกคนที่มาบ้านจำรุงต้องได้ทดลองทานผักที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินชื่อกันไปบ้าง 1 – 2 ชนิด โดยในชุมชนจะมีกลุ่มเกษตรพื้นบ้านคอยรับผักจากสมาชิกผู้ผลิตในชุมชนผ่านคุณป้าหน่วง สำนักวิชา พนักงานขายร่างใหญ่ อารมณ์ดี เพื่อกระจายผักปลอดสารพิษไปให้ทุกคนในชุมชนได้รับประทานกัน คุณป้าเล่าว่าทุกวันจะตระเวนไปรับผักจากบ้านหลายหลังในชุมชนที่มีการปลูกผักพื้นบ้าน ใครมีผักชนิดไหนก็เอามาขายแลกเปลี่ยนผักชนิดอื่นของบ้านอื่นไป โดยเฉพาะผักขม ผักหวาน ข่าแดงจะขึ้นอยู่มากมายในชุมชน และมีปลูกกันหลายครอบครัว ทั้งยังยิ่งเก็บมาทาน ก็ยิ่งมีมากขึ้น ชาวบ้านในชุมชนมีผักให้ทานมากมายหลายชนิดในราคาย่อมเยา ลดรายจ่ายจากผักในเมือง ลดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในชุมชน และเพิ่มสุขภาพที่ดีของทุกคน
คุณยายอุทัย รัตนพงษ์ นักจัดรายการวิทยุชุมชนรายการเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ร้องเพลงเปิดประจำรายการที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่พอเพียงและเป็นอิสระจากสังคมทุนนิยม บริโภคนิยมให้เราฟังว่า
คุณยายอุทัย รัตนพงษ์ นักจัดรายการวิทยุชุมชนรายการเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ร้องเพลงเปิดประจำรายการที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่พอเพียงและเป็นอิสระจากสังคมทุนนิยม บริโภคนิยมให้เราฟังว่า
“พริก มะเขือ ขิงข่า ตะไคร้ เราไม่ควรไปซื้อที่ตลาด
ปลูกให้งามยามเมื่อขาด วิ่งปราดไปในสวนครัว
เลือกเก็บเอาตามชอบใจ จะกินเมื่อไรก็ไม่ต้องกลัว
เรามีผักสวนครัวไม่ต้องกลัวอดกิน”
ปลูกให้งามยามเมื่อขาด วิ่งปราดไปในสวนครัว
เลือกเก็บเอาตามชอบใจ จะกินเมื่อไรก็ไม่ต้องกลัว
เรามีผักสวนครัวไม่ต้องกลัวอดกิน”
ข้อมูลบ้านจำรูง
" บ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก "
บ้านจำรุง ตั้งอยู่หมู่ ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภาคตะวันออกของประเทศไทย ด้วยสภาพความเป็นอยู่ในชุมชน เน้นการพึ่งพาตนเอง จนเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่างที่ดี มีผู้มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดทั้งปี หมู่บ้านจำรุงส่งเสริมให้ประชาชน ได้นำผักพื้นบ้านมารับประทาน อาทิ ดอกอัญชัน ยอดมะระ ขมิ้นชัน ชะอม ใบชะพลู ใบบัวบก ยอดเสม็ดแดง ฯลฯ ใช้ประกอบเป็นอาหารหลัก รวมถึงชวนเชิญนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นลูกค้าของร้านส้มตำจำรุงได้บริโภคผักพื้นบ้านเหล่านี้ จนกระทั่งได้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ที่นักท่องเที่ยวรู้จักและคุ้นเคย กลุ่มผู้สูงอายุบ้านจำรุงเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพมากมาย อาทิ ผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุงจำหน่ายในร้านค้าของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี โดยมีโรงสีข้าวชุมชนเองมีการผลิตข้าวซ้อมมืออย่างต่อเนื่อง และนำเศษแกลบรำส่งให้กับกลุ่มเกษตรกรพื้นบ้านทำปุ๋ยชีวภาพ และนำปลายข้าวขายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำ

นอกจากนี้บ้านจำรุงยังก่อตั้ง กลุ่มธนาคารขยะ ผู้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของเศษของที่เหลือใช้ แม้แต่ขยะมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อมรับซื้อขยะทุกประเภทมีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้เด็ก เยาวชนได้รับรู้ถึงขยะสิ่งของเหลือใช้ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติในการรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน กลุ่มผู้ใช้น้ำจะรวมตัวกันทำอาหารเลี้ยงรับ รอง โดยใช้ผักพื้นบ้านเป็นอาหารหลักให้รับประทาน รายได้นำไปเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน นอกจากนี้บ้านจำรุงยังมีการบริการที่พักชุมชนโฮมสเตย์ ให้กับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจในวิถีชีวิตที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ได้มาสัมผัสและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้การบริหารจัดการชุมชน โดยมีแกนนำที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาสังคมชุมชนที่พร้อมต่อการเรียนรู้ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นำมาปรับใช้ในปี 2548 ได้นำชุมชน เครือข่ายชุมชน ผู้นำชุมชน เข้าสู่โครงการมาตรฐานชุมชน (มชช.) และสามารถผ่านการประเมินจากคณะกรรมการ ติดตามประเมินผล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เป็นจุดนำร่องต้นแบบ เผยแพร่ แนะนำชุมชน อื่น ๆ เพื่อเข้าสู่การประเมินมาตรฐานชุมชนในปีต่อ ๆ ไป
นายชาติชาย เหลืองเจริญ ประธานศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนบ้านจำรุง เล่าให้ฟังถึงรูปแบบการจัดการชุมชนจนได้รับเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องว่า การทำหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนี้ ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องเงิน แต่มุ่งหวังเรื่องการเรียนรู้ ปัญหาคือ ชุมชนอ่อนแอเพราะขาดความรู้ ถ้าเราแบ่งคนเป็น 3 ฐาน ฐานที่ 1 คือคนระดับมันสมอง จะไหลออก ไม่อยู่ในชุมชน ผู้ที่เรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษามักไม่กลับไปบ้านเกิด ทำให้ชุมชนอ่อนแอไปเรื่อย ๆ ต้องหาทางให้คนกลุ่มนี้กลับมา ซึ่งยากเพราะแต่ละคนมีภารกิจหน้าที่ต้องดูแลครอบครัว เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้คนกลุ่มที่ 2 และ 3 ที่อยู่ในพื้นที่ให้เก่งให้ได้ กลุ่มที่ 3 คือฐานล่าง ที่สุด เพราะมีการเรียนรู้ช้า ต้องใช้เวลาในการพูดคุยหรือทำงานมากกว่ามาตรฐานคนปกติ 3 เท่า จึงจะสามารถขยับตัวขึ้นมาเป็นคนกลุ่มที่ 2 ได้ และทำให้คนกลุ่มที่ 2 พัฒนาเป็นคนกลุ่มที่ 1 แต่ก็อยากให้คนกลุ่มที่ 1 ที่เคยออกจากพื้นที่ กลับมาเยี่ยมเยียนบ้าน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนในพื้นที่แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว อีก 10 ปีข้างหน้าหมู่บ้านนี้จะมีองค์ประกอบทุกอย่างพร้อม เราต้องการเด็กที่เก่งเรื่องการเงินสักคนหนึ่งมาบริหารจัดการเรื่องธนาคาร อยากได้ผู้จัดการมินิมาร์ทสักคนหนึ่งมาบริหาร เงินเดือนเพียง 7-8 พันบาทก็อยู่ได้ อยากได้วิศวกรโรงงานสักคนหนึ่ง กินเงินเดือนสักหมื่นมาอยู่ที่โรงงาน สิ่งเหล่านี้ได้วางแผนไว้แล้ว แต่ต้องใช้เวลาต่อไป เพราะเป็นงานพัฒนาคน สร้างคนรุ่นใหม่จากชุมชน ส่งเสริมการศึกษาซึ่งได้มีการวางแผนกันไว้แล้วว่าคนไหนจะไปอยู่จุดไหน ผู้นำชุมชนบอกถึงทิศทางการพัฒนาชุมชน วันนี้เราต้องให้ความสำคัญกับชุมชนฐานล่างให้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ ควรมีศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศไทย เพราะศูนย์การเรียนรู้มีค่า เราจึงเปิดมหาวิทยาลัยที่สอนหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างเช่น วิชาส้มตำก็สอนให้ฟรี ถ้าเขากลับไปปลูกมะละกอสัก 5 ต้นก็คุ้มแล้ว สอนทุกเรื่องที่อยากรู้ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครอีก

" ร้านค้าชุมชน จุดเริ่มต้นของวงจรแห่งการพัฒนา "
จากการระดมหุ้นกันครั้งแรกเพื่อจัดตั้งร้านค้าชุมชนขึ้น กองทุนพัฒนาหมู่บ้านได้เงินทั้งสิ้น 30,000 บาท และมีสมาชิกเป็นคนในชุมชน 120 คน ร้านค้าหมู่บ้านดำเนินการในลักษณะสหกรณ์ชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ทั้งจากภายนอก และสินค้าการเกษตร ผลผลิต สินค้าแปรรูปที่ผลิตได้ในชุมชนเอง ร้านค้าชุมชนจึงเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าบ้านจำรุงมีวงจรการผลิต จำหน่าย และบริโภคกันในชุมชน ถ้าชาวบ้านในชุมชนเข้าใจถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจชุมชน บ้านจำรุงก็จะสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องกังวลว่าเมื่องผลิตมาแล้วจะขายให้ใคร หรือเราต้องไปซื้อสินค้าจากใคร เพราะบ้านจำรุงสามารถสร้างผลิต ขาย และบริโภคได้เอง ผลกำไรที่ได้ก็ไหลเวียนอยู่ในชุมชน เป็นเงินที่จะใช้พัฒนาชุมชนต่อไป ร้านค้าชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกับศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและผุ้สูงอายุบ้านจำรุง สถานที่แรกที่เราได้พบกับผู้ใหญ่บ้านชาติชาย เป็นทั้งสถานที่ทำงานและพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านจำรุง และเป็นที่ที่เราได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะดังอยู่เป็นระยะ ๆ จนเราอดอมยิ้มตามไปด้วยไม่ได้ ร้านค้าชุมชนเล็กแห่งนี้มีกำไรเพิ่มขึ้น ทุกปี มียอดขายปีละหลายล้านบาท เมื่อถึงเวลาปันผลประจำปี ผลกำไรที่ได้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกร้อยละ 30 จะเก็บเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ร้อยละ 35 จ่ายคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้น และอีกร้อยละ 35 จ่ายคืนให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ตามสัดส่วนการซื้อ ซื้อมากได้มาก ซื้อน้อยได้พอประมาณ พอได้ยินเรื่องจำนวนเงินปันผลแล้วเราก็กระซิบถามผู้ใหญ่บ้านว่าคนนอกเข้าหุ้นด้วยได้หรือไม่ ผู้ใหญ่ชาติชายตอบทันควันว่าได้แน่นอน ที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านหมู่อื่นมาเข้าหุ้นด้วย แล้วถึงแม้ว่าจะมีร้านค้าชุมชนแล้ว แต่บางครอบครัวก็อาจจะเปิดร้านค้าอย่างเดียวกันนี้อีกก็ได้ ไม่ได้มีการบังคับหรือจะเป็นการขัดใจกันอย่างไร เพียงแต่ให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนนี้ยังคงอยู่ และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็เป็นการแบ่งกันปันกันในชุมชน และกระตุ้นให้เกิดวงจรการพัฒนา อื่น ๆ ตามมาอีกมากมายจากผลกำไรของร้านค้าชุมชนที่อยู่ในกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน เพราะชุมชน มีกองทุน มีเงินที่จะลงทุนทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดเป็นผลผลิตที่สอดคล้องกับเหตุและผลตามแนวทางวิถีชีวิตของตนเอง เราจะได้พบเห็นลักษณะการดำเนินงานแบบร่วมมือร่วมใจ รู้เก็บ รู้แบ่งปันอย่างเดียวกับร้านค้าชุมชนนี้ในกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายมากกว่า 20 กลุ่มกิจกรรม ในชุมชนบ้านจำรุง
" กลุ่มกิจกรรมการผลิต "

กลุ่มเกษตรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพชุมชน
ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าบทเรียนที่ได้รับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลในชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านจำรุงเลิกการใช้สารเคมีหันกลับมาหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน เรียนรู้ที่จะพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง มีระบบทุนนิยมของตนเอง ทุนทางสังคมนิยมกับทุนวัฒนธรรมนิยม บทเรียนจากพืชเชิงเดี่ยวและสารเคมีเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งของบ้านจำรุง ชุมชนเริ่มทำความเข้าใจกับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อปรับสมดุลให้กับระบบนิเวศน์และสุขภาพชุมชน กลุ่มเกษตรพื้นบ้านจึงถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 จำนวนสมาชิกแรกก่อตั้ง 10 คน เพื่อดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษในชุมชน ทำปุ๋ยหมัก สกัดสารชีวภาพเพื่อไล่แมลง รวมทั้งทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในกลุ่มและจำหน่ายให้ผู้สนใจ และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นกลุ่มที่ปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารพิษจากแปลงเกษตรสาธิตแล้วนำไปขายให้กับร้านส้มตำจำรุง เอาไว้บริการให้ชาวบ้านในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ทานคู่กับส้มตำ บางส่วนกระจายขายในชุมชนโดยคุณป้าหน่วงพนักงานขายผักพื้นบ้านในชุมชน และทำน้ำดอกอัญชันสีสวยใสไว้ให้แก่นักเดินทางอย่างเราดื่มให้ชื่นใจ กลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นเจ้าของรายการวิทยุชุมชนรายการหนึ่งเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และรณรงค์เกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดสารพิษในบ้านจำรุง คุณยายอุทัย ประธานกลุ่มและนักจัดรายการวิทยุของกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าผักปลอดสารพิษและผักพื้นบ้านต้องทำให้ทั้งชาวบ้านในชุมชนและระบบนิเวศน์ของบ้านจำรุงมีสุขภาพที่ทั้งกายและใจไม่แพ้คุณยายแน่นอน
การรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างเครือข่ายความเข้มแข็ง
กลุ่มกิจกรรมการผลิตกลุ่มแรก และคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดก็คือการกลุ่มต่าง ๆ ของเกษตรและชาวสวน ในชุมชนบ้านจำรุงมีการรวมกลุ่มของเกษตรกร ชาวสวน กลุ่มต่างมากมายตามกลุ่มอาชีพของแต่ละคน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าบางคนอาจสังกัดมากกว่า 1 กลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และยังเป็นเครือข่ายกับกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีก อย่างที่ผู้ใหญ่บ้านบอกเราว่าที่บ้านจำรุงไม่มีสิ่งใดเหลือใช้หรือสูญเปล่า ถ้าเก็บนำมาใช้ในกระบวนการใดได้ก็จะถูกส่งต่อให้กับกลุ่มกิจกรรมที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างเช่น เศษแกลบ เศษรำจากโรงสีข้าวชุมชนของกลุ่มผู้สูงอายุก็จะถูกส่งต่อให้กลุ่มเกษตรพื้นบ้านนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนก็จะนำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพจากกลุ่มเกษตรพื้นบ้านที่ขายในร้านค้าชุมชนมาใช้ ส่วนปลายข้าวที่เหลือจากกลุ่มผู้สูงอายุก็ถูกส่งต่อให้กลุ่มผู้ใช้ตะพาบน้ำเช่นกัน ทั้งเกษตรกรชาวสวนและกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำร่วมถึงชาวบ้านจำรุงทุกคนก็จะได้ทานข้าวจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ขายในร้านค้าชุมชน เราตื่นเต้นและทึ่งกับวงจรความสัมพันธ์นี้ไปชั่วขณะ ก่อนที่จะนึกขึ้นได้ว่ายังไม่จบเพียงนั้นเพราะเมื่อถึงเวลาที่ร้านค้าชุมชนจะปันผลทุกคนก็จะได้รับเงินปันผลจากยอดการซื้อของตัวเองอีกด้วย ผู้ใหญ่บอกว่า ถ้าเป็นนักวิชาการอาจเรียกว่าห่วงโซ่แห่งคุณค่าก็ว่าได้
" นวัตกรรมส้มตำแห่งบ้านจำรุง "

ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลหลากหลายชนิดที่บ้านจำรุงไม่ได้มีไว้กินกับน้ำพริกเท่านั้น แต่เราพบว่าใบบัวบก ข่าแดงอ่อน หัวปลี ผักขม ผักหวาน ฯลฯ หรือแม้แต่ดอกอัญชัญก็นำมากินคู่กับส้มตำได้ด้วย ที่ร้านส้มตำจำรุง นอกจากจะได้แปลกใจกับผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดที่คุณน้าทำเนยบ รัตนพงษ์ เจ้าของร้านส้มตำคนงาม นำมาบริการแล้ว เรายังพบว่าผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลกของคุณลุงไฉไลและชาวสวนบ้านจำรุง ถูกนำมาคลุกเคล้าเป็นส้มตำนวัตกรรมใหม่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ส้มตำทุเรียน ส้มตำแก้วมังกร ส้มตำกระท้อน ส้มตำองุ่น ส้มตำมะอึก และอีกสารพัดส้มตำจากพืชผลที่อร่อยที่สุดในโลกที่นำมาทานร่วมกับผักพื้นบ้านปลอดสารพิษในชุมชน ร้านส้มตำจำรุงเป็นอีกปลายทางหนึ่งของผลผลิตจากกิจกรรมชุมชน พืชผลและผักพื้นบ้านปลอดสารพิษนั้นก็ได้มาจากเกษตรกรในชุมชน และกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากขยะอินทรีย์ชีวภาพในชุมชน นี่เป็นวงจรการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าวงจรเล็กๆ วงจรหนึ่งในชุมชน ที่ชุมชนนี้ไม่มีสิ่งใดสูญเปล่า ทุกกระบวนการซ้อนอยู่ภายใต้ระบบวงจรการผลิตและบริโภคอย่างพอเพียงภายในชุมชน แต่ทว่ากว่าบ้านจำรุงจะมีผลไม้ได้คุณภาพและผักพื้นบ้านปลอดสารมากมายหลายชนิด บ้านจำรุงก็เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายชุมชนที่เคยผ่านยุคสมัยของการใช้สารเคมีแทนน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิต จนกระทั่งเกิดสารเคมีตกค้างในดินจำนวนมาก สร้างปัญหาให้กับดินที่เคยมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง

" ตะพาบน้ำกับแก้วมังกร "
คุณลุงสุทัศน์ รัตนวิจิตร เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำ (ชุมชนบ้านจำรุงมีหลายครอบครัวเลี้ยงตะพาบน้ำเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างหนึ่งประจำชุมชน) และปลูกแก้วมังกรไว้ในสวน จากประสบการณ์ที่เราได้จากคุณลุงไฉไล เราก็คาดเดาไว้ก่อนว่า แก้วมังกรของคุณลุงสุทัศน์จะอร่อยที่สุดในโลกเหมือนกัน ต้นแก้วมังกรที่มองเผิน ๆ เหมือนเด็กหนุ่มผมทรงเด็ดร็อค (Dead Rock) หรือเร็กเก้ (Reggae) กำลังเต้นระบำ สร้างความสนใจให้คนเมืองที่เคยเห็นแต่ผลแก้วมังกรเป็นอย่างยิ่ง แก้วมังกรที่บ้านจำรุงของคุณลุงสุทัศน์ก็ไม่ได้ใช้สารเคมีเช่นกัน คุณลุงพาเราเดินเข้าไปในสวนแหวกใบยาว ๆ ระเกะระกะของต้นแก้วมังกรเข้าไป เพื่อหาผลแก้วมังกรที่สุกแล้ว เก็บมาให้เราลองทานกันสด ๆ แล้วคำพูดประโยคนั้นก็ผ่านเข้ามาในความคิด ผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลก คุณลุงสุทัศน์พูดคล้ายคุณลุงไฉไลว่าเมื่อไม่มีสารเคมีก็ต้องอร่อยที่สุดในโลก ผลไม้ที่นี่ไม่แพ้ที่ไหน เพียงแค่ผู้บริโภครับประทานด้วยความสะบายใจว่าปลอดสารเคมี ผลไม้นั้น ๆ ก็เริ่มอร่อยแล้ว ยิ่งคนปลูกดูแลด้วยความรักมากเท่าไร ผลผลิตก็ยิ่งมีคุณภาพมากเท่านั้น การไม่ใช้สารเคมีก็เป็นการแสดงความรักความห่วงใยต่อทุกสรรพชีวิตที่อยู่ร่วมกันในชุมชน เอื้อประโยชน์ร่วมกันไม่เบียดเบียนแม้กระทั่งพื้นดินที่ชุมชนอาศัยอยู่ สรรพชีวิตอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่เย็น ชุมชนก็เป็นสุข
" ชาวสวนยางผู้รักสงบ "
เช้ามืดวันที่เราจะไปดูการกรีดยางของคุณลุงสำเริง ทุกคนพยายามลุกขึ้นจากที่นอนให้ได้ เมื่อเห็นความกระฉับกระเฉงของคุณลุงสำเริงกับผู้ใหญ่ชาติชายแล้ว ไม่ว่าจะง่วงเพียงไร ก็ต้องไปดูการกรีดยางให้ได้ นอกจากด้วยความนับถือความเป็นมืออาชีพของชาวสวนยางแล้ว ก็ด้วยเหตุผลว่านี่เป็นครั้งแรกแลละอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวเมืองอย่างเราจะได้วิธีการกรีดยางใกล้ๆ เช่นนี้ ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า
“ชาวสวนยางเป็นพวกรักสงบ เพราะเราต้องตื่นมาตั้งแต่ตีสอง ตีสาม เพื่อกรีดยาง
จะไปทะเลาะอะไรกับใครเข้าก็ไม่ได้ อันตราย แล้วก็ต้องขยันด้วย ถ้าตื่นสายกว่านั้นน้ำยางจะหมด”
หลังจากแนะนำเครื่องแบบที่ต้องใส่ในการกรีดยางแล้ว คุณลุงสำเริงก็เริ่มกรีดให้ดู น้ำขาวๆ ขุ่นๆ ไหลลงมาที่กะลาที่ผูกไว้กลางลำต้นเพื่อรองรับน้ำยา น้ำยางเหล่านี้จะกลายเป็นขี้ยางที่กลิ่นเหม็นพอควร แล้วถูกส่งไปให้กลุ่มยางพาราในชุมชน เพื่อรวมกันขาย ผู้ใหญ่บ้านเคยเล่าให้ฟังว่ายางพาราพวกนี้เอาไปแปรรูปทำอะไรได้หลายอย่าง แต่คนในชุมชนก็ยังต้องซื้อสินค้าแปรรูปพวกนั้นมาอีกที ผู้ใหญ่ชาติชายหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งชุมชนบ้านจำรุงน่าจะผลิตรองเท้ายางใส่เองได้ ชุมชนบ้านจำรุงต้องพึ่งตนเองได้จากสิ่งที่ตนเองมี แล้วใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลังจากที่เราทำความรู้จักกับชุมชนนี้และเรียนรู้ในหลายๆ กิจกรรมกลุ่มในชุมชน เราเชื่อว่าบ้านจำรุงจะพึ่งตนเองได้อย่างเป็นอิสระแท้จริง ด้วยทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มี และมีรองเท้ายางที่ผลิตเพื่อใส่เองได้ในสักวันหนึ่ง
" เก็บขยะไปฝากที่ธนาคาร "


กลุ่มผู้ใช้มีธนาคารขยะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของกลุ่ม หลังจากที่เราได้ยินชื่อครั้งแรกแล้ว เรายังไม่แน่ใจนักว่าธนาคารแห่งนี้มีพันธกิจอะไรในชุมชน “แปลงขยะให้เป็นทุน” นี่เป็น พันธกิจแรกของธนาคารขยะที่เรารับทราบมา ธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนบ้านจำรุงเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการใช้ทุกทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ชาวบ้านในชุมชนเห็นคุณค่าของเศษสิ่งของที่เหลือใช้ แต่ยังสามารถนำมาหมุนเวียนในชุมชนใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกครั้ง ขวดน้ำปลาจากกลุ่มน้ำปลาที่เราเข้าไปพิสูจน์กลิ่นมาแล้วก็รับซื้อมาจากธนาคารขยะ ชาวบ้านที่เก็บขวดน้ำปลามาไว้ที่ธนาคารขยะก็กลับมาซื้อน้ำปลาจากกลุ่มน้ำปลาอีกครั้ง ห่วงโซ่คุณค่าเล็กอีกห่วงหนึ่งผ่านเข้ามาในการรับรู้ของเราอีกครั้ง
สมาชิกกลุ่ม
1.นาย มนะภาส พึ่งโพธิ์มิน ม6/5 เลขที่ 1
2.นาย กวินท์ กิตติอมรวัฒนา ม.6/5 เลขที่ 3
3.นาย กฤษฏ์ เหลืองเลิศไพบูล ม.6/5 เลขที่ 4
4.นาย ภานุพงษ์ พลอยงาม ม.6/5 เลขที่ 6
5.นาย นันทปรีชา เด็ดขุนทด ม.6/5 เลขที่ 7
6.นาย ณัฐกิตต์ วงศ์อยู่ ม.6/5 เลขที่ 8
7.นาย ภัทรพล บุญอนันต์ ม.6/5 เลขที่ 9
8.นาย เสฐียรพงษ์ ยางเดิม ม.6/5 เลขที่ 10
9.นาย ณภัทร เกษรสิทธิ์ ม.6/5 เลขที่ 13
10.นาย กฤษฏา ตรงชื่น ม.6/5 เลขที่ 14
11.นาย ณัฐพล ไชยวงศ์ ม.6/5 เลขที่ 19
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)